กลับมาพบกันอีกครั้งแล้วนะขอรับ กับสาระน่ารู้น่าคิดของเรื่องราวของความปลอดภัยในบ้านเรือนของท่าน วันหยุดยาวผ่านไปอีกหนึ่งแล้วสิครับ ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา มีท่านใดทิ้งบ้านตัวเองให้เงียบเหงาเดียวดายเป็นเวลาหลายๆวันบ้างครับ แต่หวังว่าคงจะไม่มีคนแปลกหน้ามาเยือน มาช่วยอยู่เป็นเพื่อนกับบ้านของท่านในระหว่างที่ท่านไม่อยู่กันนะครับ
หลายๆท่านคงเคยได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสัญญาณเตือนภัยขโมยมาบ้างแล้ว ทั้งจากเพื่อนๆ ญาติๆ หรือผู้จำหน่าย บางท่านก็อาจตัดสินใจติดตั้งระบบใดระบบหนึ่งให้กับบ้านของท่านมาแล้ว แต่เชื่อว่าหลายท่านยังคงมีข้อคลางแคลงใจ จึงทำให้ละเลยเรื่องนี้เอาไว้ก่อน ลองดูไหมครับว่าเหตุผลต่างๆเหล่านี้ เป็นหนึ่งในความคิดของท่านบ้างหรือไม่
1. ราคาสูง เรื่องนี้เชื่อว่าเป็นเหตุผลหลักของหลายๆท่านแน่ๆ บางระบบประเมินราคาจากผู้จำหน่ายแล้วเกินกว่าครึ่งแสนสำหรับบ้านขนาด 80 ตารางวา เลยอาจคิดว่า ช่างเถอะ... ให้ขโมยขึ้นบ้าน 2-3 ครั้ง ยังดีกว่าให้คนขายมาปล้นฉันหนเดียวตั้งสี่ห้าหมื่น
2. ชื่อเสีย(ง)ในเรื่องการทำงานผิดพลาด มีไม่น้อยเลยครับ ที่แขยงการใช้งานระบบสัญญาณเตือนภัยขโมย ที่คอยดังเองมาเขย่าประสาทเจ้าของบ้านทั้งๆที่ไม่มีคนแปลกหน้าขึ้นบ้านสักหน่อย จนบางครั้งเพื่อนบ้านก็ชินกับเสียงเตือนภัยไปแล้วแทนที่จะตื่นเต้นตกใจคอยช่วยระแวดระวังภัยให้
3. ความยากลำบากในการจดจำการใช้งาน ด้วยความที่ว่าเป็นอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ การใช้งานบางอย่างอาจไม่เป็นที่คุ้นเคยของผู้ใช้งานบางท่านอย่าง อาม่า อาแปะ คุณป้า คุณอาได้ ปุ่มต่างๆที่ใช้งานมักเป็นภาษาต่างด้าวที่เข้าใจไม่ง่ายนัก แต่ในครอบครัวใหญ่ท่านเหล่านี้เป็นเสียงเดียวที่ใหญ่มากเวลาลงมติซะด้วยสิ
4. บ้านนั้นเป็นครอบครัวใหญ่มักมีคนอยู่บ้านตลอดเวลา ก็ถ้ามีคุณป้า คุณยาย อยู่ที่บ้านตอนกลางวันแล้ว ใยจะต้องสนใจหาสัญญาณเตือนภัยขโมยมาคอยเฝ้าบ้านอีกล่ะจ๊ะหลาน บางบ้านก็มีคุณแจ๋ว คุณแจ๋น คอยเฝ้าดูแลบ้านให้...ไม่ต้องติดหรอก
5. อยู่ในหมู่บ้านที่มี รปภ.อยู่แล้ว หลายท่านคิดว่า บ้านเราก็อยู่ในหมู่บ้านที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลทางเข้าออกหมู่บ้านอยู่แล้ว คงไม่มีขโมยขโจรหน้าไหนกล้าหรอกมั้ง
6. ที่บ้านติดเหล็กดัดไว้อยู่แล้ว ป้องกันได้...ชัวร์ มีหลายท่านครับ ที่ไว้วางใจกับเหล็กดัดที่จ้างร้านเหล็กดัดมาติดให้ ก็ใส่เหล็กดัดทุกประตูหน้าต่างแล้ว ขโมยจะเข้าบ้านได้ไงล่ะ ก็เป็นเหล็กนี่...ไม่ใช่โฟมนะจ๊ะ จะได้ทำลายเข้ามาได้ง่ายๆ จะติดกันขโมยทำไม ไม่จำเป็นหรอกมั้งครับ
7. การอันตรธานหายไปของผู้จำหน่ายหลังการขาย ข้อนี้คงกล่าวรวมได้กับสาเหตุของการขาดการดูแลและซ่อมแซมเมื่ออุปกรณ์ขัดข้องหรือถึงระยะเวลาการบำรุงรักษา เช่น การเปลี่ยนแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าดับที่จะต้องเปลี่ยนทุกๆ 2 ปี เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ทุกชนิดล้วนย่อมมีโอกาสทำงานบกพร่องได้ สาเหตุบางอย่างอาจเกิดจากสิ่งเล็กน้อยประเภทเส้นผมบังภูเขา เพียงแต่ต้องการการดูแลแก้ไขจากผู้จำหน่ายอย่างถูกต้องเท่านั้น แต่ผู้บริโภคหลายรายกลับต้องพบกับการจากหายไปของผู้จำหน่ายหรือช่างรับเหมาผู้ให้บริการติดตั้ง ซึ่งอาจหมายรวมทั้งการที่ผู้นำเข้าอุปกรณ์ปิดบริษัทเลิกธุรกิจไป เมื่อเกิดความจำเป็นที่จะต้องดูแลซ่อมแซมจึงหาอะไหล่ซ่อมไม่ได้ ต้องถูกปล่อยไว้จนใช้งานไม่ได้อีกต่อไป
ฝากเอาไว้ให้คิดกันแค่นี้ก่อนนะครับ แล้วฉบับหน้า ผมจะมาสาธยาย ในอีกแง่มุมคือ นานาเหตุผล ที่คนไทยควรติดสัญญาณเตือนภัยขโมย กันบ้าง แล้วลองเปรียบเทียบ ชั่งน้ำหนักกันดูเถิดนะครับ ว่าบ้านของท่าน สมควรที่จะหาสัญญาณเตือนภัยขโมยมาช่วยงานหรือยัง...